ใบย่านาง เมื่อพูดถึงบางคนอาจจะไม่เคยทราบมาก่อนว่าคือ สมุนไพรไทย ส่วนใหญ่จะนำมาประกอบอาหาร ซึ่งรู้จักกันเป็นอย่างดี ในการแกงหน่อไม้ใส่ใบย่านาง สมุนไพรใบย่านางคนในสมัยอดีตจะนำมาเป็นสมุนไพรรักษาโรคต่างๆได้เป็นอย่างดี เชื่อว่าคนในยุคปัจจุบันจะมีเพียงคนส่วนน้อยที่รู้จักใบย่านาง
ใบย่านาง มีความมหัศจรรย์ที่ให้ประโยชน์มากมาย เรามาทำความรู้จักใบย่านางในบทความนี้กัน
ต้นย่านางมีรูปร่างลักษณะอย่างไร ลักษณะของต้นย่านางเป็นต้นไม้เลื้อยยืนต้น จะเลื้อยขึ้นตามต้นไม้ใหญ่ ลักษณะเป็นเถาที่มีความเหนียว มีใบทรงรีปลายใบเรียวแหลม ผิวของใบเรียบเป็นมัน ดอกออกเป็นช่อตามใบและลำต้น ลักษณะของดอกมีสีเหลืองอ่อนหรือสีเหลืองแกมเขียว มีผลรูปร่างกลมรีสีเขียว เมื่อผลแก่แล้วจากสีเขียวจะกลายเป็นสีดำ

สารสำคัญที่มีอยู่ในใบย่านาง ใบย่านางพืชสมุนไพรที่ใช้รักษาและบรรเทาโรคต่างๆมาอย่างช้านาน มีสารสำคัญ ดังนี้ มีวิตามินที่สำคัญ คือ วิตามินซี วิตามินบี1 วิตามินบี 2 วิตามินบี3 วิตามินเอ มีแคลเซียม มีเบต้าแคโรทีน มีฟอสฟอรัส มีธาตุเหล็ก มีโปรตีน และมีสารอนุมูลอิสระ ที่เป็นสิ่งสำคัญที่ร่างกายมนุษย์ต้องการ
สรรพคุณของต้นย่านางตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
- ใบย่านางมีรสจืดขม นำมารับประทานแก้ไข้ตัวร้อน บรรเทาอาการไข้พิษสำแดง
- รากย่านาง มีรสจืดขม นำมาต้มรับประทานแก้ไข้อีสุกอีใส บำรุงหัวใจ แก้อาการท้องผูก สามารถรักษาโรคไข้หวัดใหญ่ได้
- ย่านางทั้งต้น สามารถดับพิษร้อน ดับไข้ ถอนพิษเบื่อจากอาหาร
ย่านางรักษาและป้องกันโรคต่างๆได้ดังนี้
- รักษาโรคไทรอยด์เป็นพิษ
- รักษาโรคตับอักเสบ
- ป้องกันและรักษาโรคภูมิแพ้
- บรรเทาอาการเหงือกอักเสบ
- รักษาโรคความดันโลหิตสูง
- บรรเทาอาการกรดไหลย้อน
- รักษาโรคหอบหืด
- ช่วยชะลอการเกิดริ้วรอยก่อนวัยอันควร
- รักษาฝ้าหรือสิวอักเสบบนใบหน้า
- แก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย
ประโยชน์ของย่านางในการประกอบอาหาร
ใบย่านางจะรู้จักกันดีในการใช้ประกอบอาหาร เป็นสมุนไพรที่สามารถเก็บมารับประทานได้ตลอดทั้งปี ยอดอ่อนจะแตกในฤดูฝน ยอดเถาย่านางส่วนใหญ่ใช้กินกับแกล้มแกงเห็ดหรือแกงหน่อไม้ของชาวเหนือ ชาวไทยอีสานใช้ใบย่านางคั้นเอาน้ำปรุงอาหารต่างๆทำให้น้ำซุปเข้มข้น การนิยมใส่ใบย่านางในแกงหน่อไม้ เพื่อลดความขมของหน่อไม้ เพราะ ย่านางมีฤทธิ์กรดยูริก และสามารถเพิ่มคลอโรฟิลล์ให้กับอาหารได้

ใบย่านางนำไปประกอบอาหารเมนูน่ารับประทานดังนี้
- ปลาหมึกผัดหน่อไม้ใส่ใบย่านาง
- แกงหน่อไม้ใส่ใบย่านาง
- ข้าวผัดใบย่านาง
- แกงเห็ดน้ำย่านางปลาร้า
- หมกหน่อไม้หม้ใบย่านาง
ประโยชน์อื่นๆของใบย่านาง
1.ใช้ย้อมผ้า น้ำสีเขียวของใบย่านางสามารถใช้ย้อมผ้าได้
2.ใช้ใบเป็นอาหารสัตว์ ใบย่านางใช้สำหรับให้อาหารสัตว์ที่กินพืชได้ เช่น วัว ควาย
3.เถาย่านางใช้มัดของ เถาของย่านางมีความเหนียว สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการนำเถาย่านางมามัดของได้
น้ำย่านางยอดนิยม
กระแสสังคมปัจจุบัน ได้รับความนิยมในการดื่มน้ำใบย่านางเพื่อสุขภาพ เชื่อว่า น้ำใบย่านางสามารถลดไขมันในเลือด ลดความดันโลหิตสูง โรคเกาต์ โรคเชื้อราในเล็บ ดื่มน้ำใบย่านางแล้วสามารถดับกระหายบรรเทาอาการร้อนในได้

สูตรการทำน้ำย่านางดื่มทำได้ง่ายๆด้วยสูตรยอดนิยมดังนี้
ส่วนผสม
- ใบย่านาง30-50 ใบ
- น้ำดื่มที่สะอาด4-5 ลิตร
- ใบเตยประมาณ 10 ใบ
วิธีทำ
- ทำให้ใบย่านางให้เล็กที่สุด แล้วนำไปโคลกหรือปั่นให้ละเอียด
- นำมากรองเอาแต่น้ำสีเขียว นำไปดื่มแทนน้ำเปล่าได้ทั้งวัน ในส่วนที่เหลือเก็บไว้ดื่มได้ 4- 5 วัน
อันตรายของการรับประทานสมุนไพรย่านางมากเกินไป
สมุนไพรย่านางมีฤทธิ์เย็น สามารถแก้กระหายดับร้อนในร่างกายเนื่องจากพิษไข้ได้ก็จริง แต่เมื่อร่างกายกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ก็ยังทานสมุนไพรย่านางเข้าไปเรื่อยๆโดยความเชื่อที่ว่าดีต่อร่างกาย จึงเป็นผลทำให้ร่างกาย เย็นลง เย็นลง เรื่อยๆ จนทำให้เกิดอาการชาตามร่างกาย ปวดเมื่อยตามร่างกายโดยไม่เคยเป็นมาก่อน จนทำให้ตับทำงานหนักเพราะต้องคอยปรับอุณหภูมิในร่างกายไม่ให้เย็นลงเรื่อยๆ เมื่อตับทำงานหนักแล้วก็จะส่งผลกระทบต่อไต จนทำให้สารพิษต่างๆตกค้างต่อไตเพราะไตต้องทำงานหนักจากตับที่คอยปรับอุณหภูมิของร่างกาย เพราะรับประทานสมุนไพรย่านางมากเกินไป ทำให้ระบบกลไกการทำงานของร่างกายเสียสมดุล
สมุนไพร ใบย่านาง นอกจากให้ประโยชน์ต่างๆอย่างมหัศจรรย์แล้ว ก็ยังมีอันตรายแถมมาให้อีกด้วยถ้าหากรับประทานในจำนวนที่มากเกินไป สมุนไพรต่างๆหากมีความรู้ความเข้าใจและความพอดีที่จะเลือกใช้ เชื่อว่าคงจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อร่างกายไม่มากก็น้อย